หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การปกครองสมัยธนบุรี

การปกครองสมัยธนบุรี

กรุงธนบุรี เป็นราชธานีไทย ในช่วง พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๒๕ มีที่ตั้งณ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เมืองธนบุรีเดิมหลังจากกรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ได้ทรงสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ขึ้น พระราชทานนามว่า "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๐ ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับพ.ศ. ๒๓๑๐ จวบจนถึง พ.ศ. ๒๓๒๕ นับเป็นเวลาแห่งราชธานีเพียง ๑๕ ปีเท่านั้น



การปกครองในสมัยกรุงธนบุรียังคงมีรูปแบบเหมือนกับสมัยอยุธยาตอนปลาย พอสรุปได้ดังนี้

1.การปกครองส่วนกลาง หรือ การปกครองในราชธานี

มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดเปรียบเสมือนสมมุติเทพ มีเจ้าฟ้าอินทรพิทักษ์ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช มีตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหารหรือสมุหพระกลาโหม มียศเป็นเจ้าพระยามหาเสนา และอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือนหรือสมุหนายก(มหาไทย) มียศเป็นเจ้าพระยาจักรี เป็นหัวหน้าบังคับบัญชาเสนาบดีจตุสดมภ์ 4 กรมได้แก่

1.1 กรมเมือง (นครบาล) มีพระยายมราชเป็นผู้บังคับบัญชา ทำหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองภายในเขตราชธานี การบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรและการปราบโจรผู้ร้าย

1.2 กรมวัง (ธรรมาธิกรณ์) มีพระยาธรรมาเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจการภายในราชสำนักและพิพากษาอรรถคดี

1.3 กรมพระคลัง (โกษาธิบดี) มีพระยาโกษาธดีเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับจ่ายเงินของแผ่นดิน และติดต่อ ทำการค้ากับต่างประเทศ

1.4 กรมนา (เกษตราธิการ) มีพระยาพลเทพเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับเรือกสวนไร่นาและเสบียงอาหารตลอดจน ดูแลที่นาหลวง เก็บภาษีค่านา เก็บข้าวขึ้นฉางหลวงและพิจารณาคดีความเกี่ยวกับเรื่องโค กระบือ และที่นา





2.การปกครองส่วนภูมิภาค หรือ การปกครองหัวเมือง

การปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็น หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก หัวเมืองประเทศราช

2.1 หัวเมืองชั้นใน จัดเป็นเมืองระดับชั้นจัตวา มีขุนนางชั้นผู้น้อยเป็นผู้ดูแลเมือง ไม่มีเจ้าเมือง ผู้ปกครองเมืองเรียกว่า ผู้รั้ง หรือ จ่าเมือง อำนาจในการปกครองขึ้นอยู่กับเสนาบดีจัตุสดมภ์

-หัวเมืองชั้นในสมัยกรุงธนบุรี ได้แก่ พระประแดง นนทบุรี สามโคก(ปทุมธานี)

2.2 หัวเมืองชั้นนอก หรือเมืองพระยามหานคร เป็นเมืองที่อยู่นอกเขตราชธานีออกไป กำหนดฐานะเป็นเมืองระดับชั้น เอก โท ตรี จัตวา ตามลำดับ หัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นอยู่กับอัครมหาเสนาบดีฝ่ายสมุหนายก ส่วนหัวเมืองฝ่ายใต้และหัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก ขึ้นอยู่กับกรมท่า(กรมพระคลัง) ถ้าเป็นเมืองชั้นเอก พระมหากษัตริย์ จะส่งขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ออกไปเป็นเจ้าเมือง ทำหน้าที่ดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ
- หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นเอก ได้แก่ พิษณุโลก จันทบูรณ์

-หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นโท ได้แก่ สวรรคโลก ระยอง เพชรบูรณ์

-หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นตรี ได้แก่ พิจิตร นครสวรรค์

-หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นจัตวาได้แก่ ไชยบาดาล ชลบุรี

2.3 หัวเมืองประเทศราช เป็นเมืองต่างชาติต่างภาษาที่อยู่ห่างไกลออกไปติดชายแดนประเทศอื่น มีกษัตริย์ปกครอง แต่ต้องได้รับการแต่งตั้งจากกรุงธนบุรี ประเทศเหล่านั้น ประมุขของแต่ละประเทศจัดการปกครองกันเอง แต่ต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการมาให้ตามที่กำหนด

- หัวเมืองประเทศราช ในสมัยกรุงธนบุรี ได้แก่ เชียงใหม่ (ล้านนาไทย) ลาว (หลวงพระบาง,เวียงจันทน์, จำปาศักดิ์) กัมพูชา (เขมร) และนครศรีธรรมราช


แบบทดสอบหลังเรียน

สร้างโดย
น.ส.ศุภางค์ สถาผล เลขที่ 21 ม.4/4

การปกครองสมัยอยุธยา

การปกครองสมัยอยุธยา






กรุงศรีอยุธยาปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรง เป็นพระประมุข ที่มีอำนาจสูงสุดใน การปกครอง แผ่นดิน ทรงปกครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรม พระองค์ทรง มอบหมายให้พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางปกครอง ดูแลเมือง ลูกหลวง หลานหลวง ต่างพระ เนตรพระกรรณ ส่วนเมืองประเทศราชมีเจ้านายใน ราชวงศ์เก่าปกครอง ขึ้นตรงต่อเมืองราชธานี ศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ(พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑) ทรงปฎิรูปการปกครอง ลดทอนอำนาจหัวเมือง ทรงแยกการบริหาร ราชการแผ่นดิน ออกเป็น ๒ ฝ่าย คือฝ่ายทหาร มีสมุหพระกลาโหม เป็นผู้รับผิดชอบ ฝ่ายพลเรือนมีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบ ในฝ่ายพลเรือน นั้นยัง แบ่งออกเป็น ๔ กรมหรือ จตุสดมภ์ คือ สี่เสาหลัก ได้แก่ กรมเวียงหรือนครบาลทำหน้าที่ปกครองดูแลบ้านเมือง กรมวังหรือธรรมมาธิการณ์ ทำหน้าที่ดูแล กิจการพระราชวัง กรมคลังหรือโกษาธิบดีทำหน้าที่ดูแลด้านการค้าและการต่างประเทศ กรมนา หรือเกษตราธิการทำหน้าที่ดูแลเรื่องเกษตรกรรม ซึ่งรูปแบบการปกครองนี้ ใช้สืบต่อมา ตลอด สมัยอยุธยา
การปกครองของกรุงศรีอยุธยาตลอดระยะเวลาแห่งการเป็นราชธานีอันยาวนาน มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองแตกต่างกันแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งสามารถแบ่งรูปแบบการปกครองได้เป็น 3 ช่วง คือ สมัยอยุธยาตอนต้น สมัยอยุธยาตอนกลาง และสมัยอยุธยาตอนปลาย



สมัยอยุธยาตอนต้น


นสมัยนี้เป็นสมัยของการวางรากฐานอำนาจทางการเมืองการปกครอง รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงของอาณาจักร ซึ่งยังมีอาณาเขตไม่กว้างขวางมากนัก พระเจ้าอู่ทองทรงวางราฐานการปกครองไว้ ดังนี้
1.1 การปกครองส่วนกลาง (ราชธานี)
พระมหากษัตริย์แบ่งการปกครองเป็น 4 ส่วน เรียกว่า จตุสดมภ์ ให้แต่ละส่วนมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1) กรมเวียง (กรมเมือง) มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของราษฎรทั่วราชอาณาจักร เช่น ปราบปรามโจรผู้ร้าย นำตัวผู้ทำผิดมาลงโทษ มีเสนาบดี ตำแหน่ง ขุนเวียง หรือ ขุนเมือง เป็นหัวหน้า
2) กรมวัง มีหน้าที่จัดระเบียบเกี่ยวกับราชสำนัก จัดงานพระราชพิธีต่าง ๆ พิพากษาคดีความของราษฎร มีเสนาบดีตำแหน่ง ขุนวัง เป็นผู้รับผิดชอบ
3) กรมคลัง มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากร จัดหารายได้เพื่อใช้ในการบำรุงราชอาณาจักร รับผิดชอบด้านการเงินและการต่างประเทศ การแต่งสำเภาหลวงออกค้าขาย มีเสนาบดีตำแหน่ง ขุนคลัง เป็นผู้รับผิดชอบ
4) กรมนา มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการทำมาหากินของราษฎร เช่น การทำนา ทำไร่ ทำสวน และจัดเตรียมเสบียงอาหารไว้ใช้ในยามศึกสงคราม มีเสนาบดีตำแหน่ง ขุนนา เป็นผู้รับผิดชอบ
1.2 การปกครองส่วนภูมิภาค
เป็นการปกครองหัวเมืองที่อยู่นอกเขตราชธานี ซึ่งมีการแบ่งเมืองเป็นระดับชั้น โดยมีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง
1) เมืองหน้าด่าน (เมืองลูกหลวง) เป็นหัวเมืองที่อยู่รายรอบราชธานีและมีระยะทางไปมาถึงราชธานีได้ภายใน 2 วัน มีความสำคัญในการป้องกันข้าศึกไม่ให้โจมตีถึงราชธานีได้ง่าย พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งให้พระราชโอรสหรือเจ้านายชั้นสูงไปปกครองแทนพระองค์ เพื่อเป็นการแบ่งเบาพระราชภาระด้านการปกครอง
2) หัวเมืองชั้นใน เป็นหัวเมืองที่ถัดจากเมืองหน้าด่านออกไปอีก เป็นเมืองรายรอบตามระยะทางคมนาคม อยู่ไม่ไกลจากราชธานี สามารถติดต่อถึงกันได้สะดวก หัวเมืองชั้นในมีความสำคัญคือ ในยามศึกสงครามจะนำกำลังทหารมาสมทบพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งาตั้งเจ้าเมือง กรมการเมือง และคณะกรมการเมืองไปปกครองโดยขึ้นตรงต่อราชธานี หัวเมืองชั้นในที่สำคัญ มีดังนี้
ทิศเหนือ เมืองาพรหมบุรี อินทร์บุรี สิงห์บุรี
ทิศใต้ เมืองเพชรบุรี
ทิศตะวันออก เมืองปราจีนบุรี
ทิศตะวันตก เมืองราชบุรี

3) หัวเมืองชั้นนอก (เมืองพระยามหานคร) เป็นหัวเมืองที่มีขนาดใหญ่อยู่ห่างจากราชธานีออกไปตามทิศทางต่าง ๆ หัวเมืองชั้นนอกจะเป็นเมืองที่คอยปกป้องดูแลอาณาเขตด้านที่ตั้งอยู่ มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองสืบทอดต่อ ๆ กันมา แต่ในบางครั้งเพื่อความมั่นคงของราชธานี พระมหากษัตริย์ก็ทรงแต่งตั้งขุนนางจากกรุงศรีอยุธยาไปปกครอง หัวเมืองชั้นนอกที่สำคัญ มีดังนี้
ทิศเหนือ เมืองพิษณุโลก
ทิศใต้ เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง
ทิศตะวันออก เมืองนครราชสีมา เมืองจันทบุรี
ทิศตะวันตก เมืองตะนาวศรี เมืองทวาย

4) หัวเมืองประเทศราช เป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลนอกพระราชอาณาเขต มีการปกครองอิสระแก่ตนเอง ชาวเมืองเป็นชาวต่างประเทศ เมืองเหล่านี้มีรูปแบบการปกครองตามวัฒนธรรมเดิมของตน เจ้านายพื้นเมืองมีสิทธิ์ขาดในการปกครองดินแดนของตน แต่ต้องแสดงตนว่ายอมอ่อนน้อมหรือเป็นเมืองประเทศราช โดยการส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามกำหนด เป็นการแสดงความจงรักภักดีเมื่อเกิดศึกสงครามก็ส่งกำลังและเสบียงอาหารมาสมทบกับฝ่ายไทย เมืองประเทศราชในสมัยนี้ ได้แก่ เขมร มอญ มะละกา


สมัยอยุธยาตอนกลาง

ช่วงเวลาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 1991 - 2231) สมัยนี้เป็นสมัยที่อาณาจักรอยุธยามีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น และเริ่มเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ มีอำนาจทางการเมืองการปกครองเจริญรุ่งเรืองสูงสุด รวมทั้งมีสภาพทางเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรือง มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ
ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้มีการจัดระเบียบการปกครองโดยรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของอาณาจักรอยุธยาในขณะนั้นที่ขยายดินแดนกว้างออกไป
สาเหตุที่ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถปฏิรูปการปกครองอาณาจักรอยุธยา มีดังนี้
1. สืบเนื่องจากการที่อยุธยาได้ขยายดินแดนออกไปกว้างขวาง และได้รวมเอาดินแดนของอาณาจักรสุโขทัยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร จึงจำเป็นต้องขยายอำนาจการปกครองออกไปให้ควบคุมดินแดนทั้งหมดไว้ได้
2. เกิดปัญหาเรื่องความมั่นคงของอาณาจักร จากการที่เมืองหน้าด่านมีกองกำลังป้องกันเมืองจึงมีอำนาจมาก ทำให้เกิดการชิงราชสมบัติอยู่บ่อยครั้ง
3. ทรงต้องการปรับปรุงระเบียบการปกครองที่มีมาแต่เดิม เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น
1.1 การปกครองส่วนกลาง
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงจัดแบ่งขุนนางและไพร่พลทั่วราชอาณาจักรใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายพลเรือน และฝ่ายทหาร
ในยามที่บ้านเมืองสงบสุข หน้าที่ของฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารจะแยกจากกัน เพื่อรับผิดชอบบริหารบ้านเมืองตามที่ได้รับมอบหมายให้มีประสิทธิภาพ แต่เมื่อยามเกิดสงคราม ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องรวมกำลังกัน เพื่อต่อสู้ข้าศึกศัตรูและป้องกันประเทศให้มั่นคงปลอดภัย
ฝ่ายทหาร มีสมุหพระกลาโหมเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาดูแลราชการฝ่ายทหารทั่วราชอาณาจักร เพื่อเตรียมไพร่พลและกำลังอาวุธไว้ให้พร้อมเพรียง สามารถสู้รบในยามเกิดสงครามได้
ฝ่ายพลเรือน มีสมุหนายกเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาดูแลรับผิดชอบงานฝ่ายพลเรือนทั่วราชอาณาจักร และคอยกำกับดูแลการทำงานของเหล่าเสนาบดีจตุสดมภ์เดิม ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเปลี่ยนชื่อ และปรับปรุงหน้าที่ของหน่วยงานทั้ง 4 ใหม่ โดยให้มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารราชการแผ่นดินแตกต่างกันไปตามที่ทรงมอบหมาย ดังนี้
-กรมเวียง (นครบาล) มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และรักษาความสงบสุขของราษฎรในเขตราชธานี
-กรมวัง (ธรรมมาธิกรณ์) มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับราชสำนัก งานราชพิธี และพิพากษาคดีความของราษฎร
-กรมคลัง (โกษาธิบดี) มีหน้าที่ดูแลรายรับรายจ่ายและเก็บรักษาพระราชทรัพย์ จัดเก็บอากรค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ
-กรมนา (เกษตราธิการ) มีหน้าที่ดูแลส่งเสริมให้ราษฎรทำไร่ ทำนา เก็บข้าวขึ้นฉางหลวง เพื่อใช้เป็นเสบียงในยามศึกสงครามหรือยามเกิดข้าวยากหมากแพง
1.2 การปกครองส่วนภูมิภาค
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงวางหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการปกครองส่วนภูมิภาคให้มีลักษณะแบบเดียวกันกับส่วนกลาง และได้ยกเลิกเมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่านทั้ง 4 ทิศ โดยแบ่งเขตของการปกครองเป็น 3 เขต ดังนี้
1) หัวเมืองชั้นใน ได้แก่ เมืองที่อยู่ใกล้ราชธานี เช่น ราชบุรี เพชรบุรี ชัยนาถ นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ชลบุรี เป็นต้น เมืองเหล่านี้มีฐานะเป็นเมืองจัตวา พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขุนนางไปปกครอง ผู้ปกครองเมืองเรียกว่า ผู้รั้ง
2) หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ เมืองที่อยู่ห่างไกลจากราชธานีออกไป แบ่งเป็นเมืองชั้นเอก โท ตรี ตามขนาดและความสำคัญของแต่ละเมือง ดังต่อไปนี้
- เมืองชั้นเอก เป็นเมืองใหญ่ มีประชาชนมาก เช่น พิษณุโลก นครศรีธรรมราช
- เมืองชั้นโท เป็นเมืองที่สำคัญรองลงมา เช่น สุโขทัย กำแพงเพชร สวรรค์โลก
- เมืองชั้นตรี เป็นเมืองที่ขนาดเล็ก เช่น ไชยา ชุมพร นครสวรรค์
3) หัวเมืองประเทศราช ได้แก่ เมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา เช่น ปัตตานี มะละกา เชียงกราน ทวาย ผู้ปกครองต้องส่งเครื่องราชบรรณาการ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง มาถวายกษัตริย์ที่กรุงศรีอยุธยา โดยมีข้อกำหนด 3 ปีต่อหนึ่งครั้ง และต้องส่งกองทัพมาช่วยสู้รบกับข้าศึกศัตรูเมื่อเมืองหลวงเกิดมีศึกสงครามขึ้น วิธีการปกครองยังคงใช้วิธีเดียวกับสมัยอยุธยาตอนต้น
1.3 การปกครองส่วนท้องถิ่น
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงแบ่งการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การปกครองดูแลได้ทั่วถึงมากขึ้น โดยเริ่มจากหมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้านปกครองดูแล ตำบลมีกำนันดูแล แขวงมีหมื่นแขวงดูแล และเมืองมีเจ้าเมืองดูแล การปกครองท้องถิ่นดังกล่าวได้ใช้สืบทอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

สมัยอยุธยาตอนปลาย

ช่วงเวลาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเพทราชาถึงสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือพระเจ้าเอกทัศ (พ.ศ. 2231 - 2310) รูปแบบการปกครองในสมัยอยุธยาตอนปลาย ยังคงยึดรูปแบบการปกครองตามที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงจัดระเบียบไว้ แต่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองบางส่วนในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ดังนี้
1. ยกเลิกการแยกความรับผิดชอบของอัครมหาเสนาบดีด้านงานพลเรือน และด้านงานทหาร
2. ให้สมุหพระกลาโหมรับผิดชอบทั้งด้านทหารและพลเรือน ปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ตั้งแต่เพชรบุรีลงไป
3. ให้สมุหนายกรับผิดชอบทั้งด้านทหารและพลเรือน ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือและดูแลจตุสดมภ์ในส่วนกลาง
4. ให้เสนาบดีกรมคลังรับผิดชอบทั้งด้านทหารและพลเรือน ปกครองหัวเมืองชายฝั่งตะวันออก และดูแลเกี่ยวกับรายได้ของแผ่นดินและการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ






สร้างโดย

น.ส.ศุภางค์ สถาผล เลขที่ 21 ม.4/4

วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การปกครองสมัยสุโขทัย

การปกครองของสมัยสุโขทัย


อาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักรของคนไทยที่ได้รับการสถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 1792 สถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงสุโขทัยทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ นับเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุโขทัยหรือราชวงศ์พระร่วง นับตั้งแต่ พ.ศ. 1792 เป็นต้นมา

อาณาจักรสุโขทัยเมื่อแรกตั้งเป็นอาณาจักรเล็กๆสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดคือสมัยพ่อขุนรามคำแหง มหาราชมีอาณาเขตทิศเหนือจรดเมืองลำพูน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือจรดเทือกเขาดงพญาเย็น และภูเขาพนมดงรักทิศตะวันตกจรดเมืองหงศาวดี ทางใต้จรดแหลมมลายู มีกษัตริย์ปกครองเป็นเอกราชติดต่อกันมา 6 พระองค์อาณาจักรสุโขทัย เสื่อมลงและตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาเมื่อสมัยพญาไสลือไท โดยทำสงครามปราชัยแก่ พระบรมราชาที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาในปีพ.ศ.1921 และราชวงศ์พระร่วงยังคงปกครองในฐานะประเทศราชติดต่อกันมาอีก 2 พระองค์ จนสิ้นราชวงศ์ พ.ศ.1981


ลักษณะการปกครองของสมัยสุโขทัย เป็นการปกครองแบบบิดาปกครองบุตรหรือการปกครองคนในครอบครัว (Paternalism) คือพระมหากษัตริย์เป็นเสมือนพ่อหรือข้าราชการบริพารเปรียบเสมือนลูกหรือคนในครอบครัวทำการปกครองลดหลั่นกันไปตามลำดับ ศาสตราจารย์ James N. Mosel ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปกครองของไทยในสมัยกรุงสุโขทัยไว้ว่ามีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ มีลักษณะเป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูกกับการดำเนินการปกครองแบบหัวเมืองขึ้น มีลักษณะคล้ายเจ้าผู้ครองนครกับยังได้ย้ำว่า การปกครองแบบหัวเมือง หรือเจ้าผู้ครองของไทย แตกต่างกับระบบเจ้าผู้ครองนครของยุโรปอย่างไรก็ดี สำหรับการปกครองแบบบิดากับบุตรนี้ในปาฐกถาของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องลักษณะการปกครองประเทศสยาม แต่โบราณได้อธิบายไว้ว่าวิธีการปกครองในสมัยสุโขทัยนั้น นับถือพระเจ้าแผ่นดินอย่างบิดาของประชาชนทั้งปวงวิธีการปกครองเอาลักษณะการปกครองสกุลมาเป็นคติ เป็นต้น บิดาปกครองครัวเรือนหลายครัวเรือนรวมกันเป็นบ้านอยู่ในปกครองของพ่อบ้าน ผู้อยู่ในปกครอง เรียกว่า ลูกบ้าน หลายบ้านรวมกันเป็นเมืองถ้าเป็นเมืองขึ้นอยู่ในความปกครองของพ่อเมือง ถ้าเป็นประเทศราชเจ้าเมืองเป็นขุนหลายเมืองรวมกันเป็นประเทศที่อยู่ในความปกครองของพ่อขุน ข้าราชการในตำแหน่งต่าง ๆ เรียกว่าลูกขุน วิธีการปกครองของไทยเป็นอย่างบิดาปกครองบุตรยังใช้หลักในการปกครองประเทศไทยมา จนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คำว่าปกครองแบบพ่อปกครองลูกนี้มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อจิตใจของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง พระเจ้าแผ่นดินสมัยสุโขทัยตอนต้น ประชาชนมักใช้คำแทนตัวท่านว่าพ่อขุน จนเมื่ออิทธิพลของขอมเข้ามาแทรกแซงก็ได้เปลี่ยนไปใช้คำว่าพระยาเสียทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับกษัตริย์ ซึ่งเดิมเปรียบเสมือนพ่อกับลูกได้กลายสภาพเป็นข้ากับเจ้าบ่าวกับนายไป

การปกครองระบบบิดากับบุตรนี้พระมหากษัตริย์ในฐานะบิดา ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดถ้าได้พิจารณาถ่องแท้แล้วก็จะเห็นว่าถ้าผู้ปกครองประเทศคือ พระมหากษัตริย์ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ราษฎรเสมือนหนึ่งบุตรประชาชนก็ย่อมจะได้รับความผาสุกแต่ถ้าการปกครองดังกล่าวมีลักษณะเป็นข้ากับเจ้าบ่าวกับนายสวัสดิภาพของประชาชนในสมัยนั้นก็น่าจะไม่มีความหมายอะไร อย่างไรก็ดีการที่จะใช้ระบบการปกครองอย่างใดจึงเหมาะสมนั้นนอกจากขึ้นอยู่กับภาวการณ์ต่างๆในแต่ละสมัยแล้วการเลือกใช้วิธีการปกครองระบบบิดากับบุตรในสมัยนั้นน่าจะถือเอาการปกครองประเทศเป็นนโยบายสำคัญ

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ความสำเร็จบรรลุอุดมการณ์ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงหลายประการ ตราบใดที่ประชาชนในยุคประชาธิปไตยยังรำลึกว่าตนอยู่ในฐานะบุตรที่ผู้ปกครองในฐานะบิดาจะต้องโอบอุ้มตลอดไปบุตรคือประชาชนก็จะขาดความรับผิดชอบละขาดความสำนึกในทางการเมืองที่จะปลูกฝังและเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยได้เช่นกัน หากผู้ปกครองต้องอยู่ในฐานะบิดาที่คอยโอบอุ้มและกำหนดความต้องการของประชาชนในฐานะบุตรแล้ว ความเป็นประชาธิปไตยที่จะให้บรรลุอุดมการณ์แท้จริงก็เป็นสิ่งที่หวังได้โดยยาก

แบบทดสอบหลังเรียน

สร้างโดย

น.ส.ศุภางค์ สถาผล เลขที่ 21 ม.4/4