การปกครองสมัยธนบุรี
กรุงธนบุรี เป็นราชธานีไทย ในช่วง พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๒๕ มีที่ตั้งณ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เมืองธนบุรีเดิมหลังจากกรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ได้ทรงสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ขึ้น พระราชทานนามว่า "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" เมื่อจุลศักราช ๑๑๓๐ ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับพ.ศ. ๒๓๑๐ จวบจนถึง พ.ศ. ๒๓๒๕ นับเป็นเวลาแห่งราชธานีเพียง ๑๕ ปีเท่านั้น
การปกครองในสมัยกรุงธนบุรียังคงมีรูปแบบเหมือนกับสมัยอยุธยาตอนปลาย พอสรุปได้ดังนี้
1.การปกครองส่วนกลาง หรือ การปกครองในราชธานี
มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดเปรียบเสมือนสมมุติเทพ มีเจ้าฟ้าอินทรพิทักษ์ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช มีตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหารหรือสมุหพระกลาโหม มียศเป็นเจ้าพระยามหาเสนา และอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือนหรือสมุหนายก(มหาไทย) มียศเป็นเจ้าพระยาจักรี เป็นหัวหน้าบังคับบัญชาเสนาบดีจตุสดมภ์ 4 กรมได้แก่
1.1 กรมเมือง (นครบาล) มีพระยายมราชเป็นผู้บังคับบัญชา ทำหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองภายในเขตราชธานี การบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรและการปราบโจรผู้ร้าย
1.2 กรมวัง (ธรรมาธิกรณ์) มีพระยาธรรมาเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจการภายในราชสำนักและพิพากษาอรรถคดี
1.3 กรมพระคลัง (โกษาธิบดี) มีพระยาโกษาธดีเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับจ่ายเงินของแผ่นดิน และติดต่อ ทำการค้ากับต่างประเทศ
1.4 กรมนา (เกษตราธิการ) มีพระยาพลเทพเป็นผู้บังคับบัญชาทำหน้าที่เกี่ยวกับเรือกสวนไร่นาและเสบียงอาหารตลอดจน ดูแลที่นาหลวง เก็บภาษีค่านา เก็บข้าวขึ้นฉางหลวงและพิจารณาคดีความเกี่ยวกับเรื่องโค กระบือ และที่นา
2.การปกครองส่วนภูมิภาค หรือ การปกครองหัวเมือง
การปกครองส่วนภูมิภาคแบ่งออกเป็น หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก หัวเมืองประเทศราช
2.1 หัวเมืองชั้นใน จัดเป็นเมืองระดับชั้นจัตวา มีขุนนางชั้นผู้น้อยเป็นผู้ดูแลเมือง ไม่มีเจ้าเมือง ผู้ปกครองเมืองเรียกว่า ผู้รั้ง หรือ จ่าเมือง อำนาจในการปกครองขึ้นอยู่กับเสนาบดีจัตุสดมภ์
-หัวเมืองชั้นในสมัยกรุงธนบุรี ได้แก่ พระประแดง นนทบุรี สามโคก(ปทุมธานี)
2.2 หัวเมืองชั้นนอก หรือเมืองพระยามหานคร เป็นเมืองที่อยู่นอกเขตราชธานีออกไป กำหนดฐานะเป็นเมืองระดับชั้น เอก โท ตรี จัตวา ตามลำดับ หัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นอยู่กับอัครมหาเสนาบดีฝ่ายสมุหนายก ส่วนหัวเมืองฝ่ายใต้และหัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก ขึ้นอยู่กับกรมท่า(กรมพระคลัง) ถ้าเป็นเมืองชั้นเอก พระมหากษัตริย์ จะส่งขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ออกไปเป็นเจ้าเมือง ทำหน้าที่ดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ
- หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นเอก ได้แก่ พิษณุโลก จันทบูรณ์
-หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นโท ได้แก่ สวรรคโลก ระยอง เพชรบูรณ์
-หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นตรี ได้แก่ พิจิตร นครสวรรค์
-หัวเมืองชั้นนอก ในสมัยกรุงธนบุรี ระดับเมืองชั้นจัตวาได้แก่ ไชยบาดาล ชลบุรี
2.3 หัวเมืองประเทศราช เป็นเมืองต่างชาติต่างภาษาที่อยู่ห่างไกลออกไปติดชายแดนประเทศอื่น มีกษัตริย์ปกครอง แต่ต้องได้รับการแต่งตั้งจากกรุงธนบุรี ประเทศเหล่านั้น ประมุขของแต่ละประเทศจัดการปกครองกันเอง แต่ต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการมาให้ตามที่กำหนด
- หัวเมืองประเทศราช ในสมัยกรุงธนบุรี ได้แก่ เชียงใหม่ (ล้านนาไทย) ลาว (หลวงพระบาง,เวียงจันทน์, จำปาศักดิ์) กัมพูชา (เขมร) และนครศรีธรรมราช
แบบทดสอบหลังเรียน
สร้างโดย
น.ส.ศุภางค์ สถาผล เลขที่ 21 ม.4/4
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น